ในช่วงต้นเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ (Group of Seven : G7)  ได้แก่ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ร่วมกับสหภาพยุโรป ได้สั่งห้ามนำเข้าเพชรจากรัสเซียทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อสกัดเงินทุนสนับสนุนสงครามรุกรานยูเครน และห้ามนำเข้าเพชรจากรัสเซียที่ผ่านการเจียระไนในประเทศที่สามตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป พร้อมนำระบบตรวจสอบย้อนกลับเต็มรูปแบบมาใช้ในเดือนกันยายน 2567 ซึ่งการคว่ำบาตรที่กำหนดโดยกลุ่ม G7 และเหล่าพันธมิตรต่อรัสเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตเพชรรายใหญ่ที่สุดของโลก จะสร้างความท้าทายให้กับอุตสาหกรรมเพชรทั่วโลกนับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

รัสเซียผลิตเพชรดิบรายใหญ่ที่สุดในโลก     

           จากข้อมูลของ Sam Parker นักวิเคราะห์ของ Visual Capitalist พบว่า รัสเซียเป็นผู้ผลิตเพชรรายใหญ่ที่สุดของโลกในปี 2565 โดยผลิตได้ 42 ล้านกะรัต คิดเป็น 1 ใน 3 ของการผลิตเพชรดิบทั่วโลก (ราว 35%) และจากข้อมูลของ GlobalData ได้ระบุว่า การส่งออกเพชรของรัสเซียลดลง 30% ในปี 2565 เมื่อเทียบจากปี 2564 คาดว่าการส่งออกเพชรของรัสเซียจะลดลงราว 0.36% ต่อปี ในระหว่างปี 2565 ถึง 2569 แต่เมื่อมีการแบนการนำเข้าเพชรจากรัสเซีย ก็จะยิ่งทำให้การส่งออกเพชรของรัสเซียลดลงมากกว่าที่คาดการณ์หลายเท่าตัวได้

ประเทศผู้ผลิตเพชรรายใหญ่ 10 อันดับแรกของโลกในปี 2565

ที่มา: www.visualcapitalist.com

อย่างไรก็ตาม การขุดเพชรได้ปริมาณมากไม่ได้หมายความว่าเพชรจะมีมูลค่าสูงเสมอไป เพราะยังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้มูลค่าเพชรสูงขึ้น ได้แก่ การเจียระไน สี และความใส เป็นต้น แม้ว่าบอตสวานาจะผลิตเพชรได้เพียง 59% ของรัสเซีย แต่เพชรมีมูลค่ามากกว่าของรัสเซียถึงราว 1.5 เท่า หรือแองโกลาเป็นผู้ผลิตเพชรรายใหญ่อันดับที่ 6 แต่เป็นอันดับที่ 3 ในแง่ของมูลค่าเพชร

รัสเซียเป็นที่ตั้งของเหมืองเพชรที่ใหญ่ที่สุด 5 แห่งจากทั้งหมด 10 แห่งของโลก และผลิตเพชรได้มากที่สุดในโลก โดยบริษัท Alrosa1  อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล เป็นผู้ผลิตเพชรรายใหญ่ที่สุดในรัสเซีย (มีสัดส่วนราว 97% ของการผลิตเพชรทั้งประเทศ) รัสเซียยังได้มีการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานและใช้เทคโนโลยีการทำเหมืองในประเทศ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการสกัดเพชรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ภาพ: https://www.jewellermagazine.com/

นอกจากนี้ จากข้อมูลของ Statista.com ระบุว่าในปี 2565 ปริมาณเพชรสำรองทั่วโลกมีประมาณ 1,300 ล้านกะรัต  โดยรัสเซียมีปริมาณเพชรสำรองมากที่สุดในโลกอยู่ที่ 600 ล้านกะรัต (คิดเป็น 46.15% ของเพชรสำรองทั่วโลก) รองลงมาคือ บอตสวานา มีเพชรสำรองราว 300 ล้านกะรัต และเพชรที่ผลิตได้กว่าครึ่งหนึ่งจากเหมืองเพชรทั่วโลกมักใช้ในอุตสาหกรรม ได้แก่ ตัด โกลน เจียระไน และเครื่องประดับ  

สถานการณ์ตลาดเพชรโลกในปัจจุบัน

ในปี 2566 อุปสงค์การค้าเพชรทั่วโลกชะลอตัวลง จากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจของโลกเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นในหลายประเทศสำคัญของโลก รวมถึงปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย และคนรุ่นใหม่ที่ใช้จ่ายเงินไปกับการเก็บเกี่ยวประสบการณ์อย่างการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน หรือการเดินทางท่องเที่ยว มากกว่าการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย อีกทั้งยังนิยมซื้อเพชรสังเคราะห์มากขึ้น เพราะมีราคาถูกกว่าเพชรแท้มาก สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาได้ และรู้สึกว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าเพชรธรรมชาติ

แม้ว่าเพชรแท้จะมีราคากลางที่ถูกกำหนดโดยผู้ผลิตรายใหญ่ แต่อุปสงค์ของผู้บริโภคก็ส่งผลต่อราคาเพชรได้เช่นกัน โดย Edahn Golan นักวิเคราะห์เพชรอิสระกล่าวว่า ความต้องการเครื่องประดับเพชรของผู้ซื้อมีอิทธิพลต่อราคาเพชร และราคาขายปลีก ในระดับหนึ่ง ผู้ค้าปลีกจึงมักกระตุ้นความต้องการของผู้บริโภคด้วยการทุ่มเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐไปกับการโฆษณาเชิญชวนให้ผู้คนซื้อเพชรมากขึ้น ซึ่งในปี 2566 ความต้องการบริโภคเพชรแท้ลดลงจากปัจจัยดังกล่าวแล้วข้างต้น ทำให้หลายบริษัทเหลือสินค้าคงคลังในปริมาณสูง จึงส่งผลให้ราคาเพชรแท้ลดลงค่อนข้างมาก

ในปี 2566 การค้าเพชรโลกชะลอตัวลง เนื่องจากตลาดผู้บริโภคเพชรหลักของโลกอย่างสหรัฐฯ มีเศรษฐกิจสั่นคลอนภายใต้แรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งจีน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตลาดบริโภคเพชรรายใหญ่ของโลก ก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ซึ่งบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ทำให้ลดความต้องการบริโภคเพชรลง ซึ่งส่งผลต่อราคาเพชรเจียระไนให้ลดลง โดยในปี 2566 ราคาเพชรเจียระไนลดลง 10-40% โดยเฉพาะเพชรยอดนิยมขนาด 0.5 – 1 กะรัตลดลงถึง 30% ส่วนราคาเพชรดิบร่วงลงอย่างมากถึง 35%

        ด้านมูลค่าตลาดเพชรโลกนั้น จากข้อมูลของ Market.us ประมาณการว่าตลาดเพชรของโลกในปี 2566 มีมูลค่าอยู่ที่ 101,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจากข้อมูลของ Global Trade Atlas พบว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกเพชรดิบของโลกลดลงกว่า 37.17% ประเทศผู้ส่งออกก้อนเพชรดิบสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ เบลเยียม บอตสวานา แองโกลา นามิเบีย และแอฟริกาใต้ ตามลำดับ ซึ่งข้อมูลของ Global Trade Atlas ไม่ปรากฎข้อมูลการส่งออกเพชรของรัสเซียตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา แต่หากย้อนไปดูสถิติข้อมูลก่อนปี 2565 พบว่ารัสเซีย เป็นผู้ส่งออกเพชรดิบใน 3 อันดับแรกของโลก มีมูลค่าการส่งออกกว่า 3,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และจากข้อมูล bne IntelliNews ระบุว่า สหรัฐฯ และยุโรปเริ่มคว่ำบาตรธนาคารรัสเซียในเดือนพฤษภาคม ปี 2565 ซึ่งหลังการคว่ำบาตรธนาคารรัสเซีย ทำให้การดำเนินธุรกรรมของรัสเซียในประเทศต่างๆ ทำได้ยากมาก ส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตเพชรรายใหญ่ที่สุดของรัสเซียและของโลกอย่าง Alrosa ส่งออกเพชรลดลงอย่างมาก โดยลดลงราวหนึ่งในสี่ และยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องในปัจจุบันและคาดว่าจะลดลงต่อไปในอนาคต

ผลกระทบจากการคว่ำบาตรเพชรรัสเซียต่อตลาดเพชรโลก

การแบนเพชรรัสเซียจะกระทบต่อการค้าเพชรโลกในหลายมิติ โดยในช่วงต้นปี 2567 ซึ่งตลาดโลกยังมีอุปทานเพชรแท้จากสต๊อกเดิมที่เก็บไว้ในปี 2566 ปล่อยออกมาในตลาด จึงยังไม่กระทบต่อการค้าเพชรโลก และราคาเพชรแท้ก็ยังคงทรงตัวอยู่ได้ในระดับต่ำ แต่เมื่อมีการใช้เพชรจากสต๊อกไปแล้วประกอบกับการห้ามนำเข้าเพชรจากรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตเพชรรายใหญ่ที่สุดในตลาดโลก อาจทำให้เกิดการขาดแคลนเพชรก้อนในช่วงกลางปีเป็นต้นไป หากแหล่งผลิตอื่นไม่สามารถผลิตได้มากพอที่จะชดเชยกับที่รัสเซียผลิตได้ ก็จะผลักดันให้ราคาเพชรในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น แต่อย่างไรก็ดี ตัวแปรสำคัญคือ ผู้บริโภคเพชรรายใหญ่ที่สุดของโลกอย่างสหรัฐฯ และจีน ที่กำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจผันผวน อาจลดความต้องการซื้อเพชร ซึ่งจะช่วยกดดันให้ราคาเพชรชะลอตัวหรือปรับขึ้นได้ไม่สูงมากนัก ภาพรวมของตลาดเพชรโลกในปี 2567 อยู่ในทิศทางขาลง

        ในแง่ของผู้เจียระไนเพชรหลักของโลกอย่างอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีการเจียระไนเพชรคิดเป็นสัดส่วนถึง 90% ของโลก และเป็นผู้นำเข้าเพชรจากรัสเซียเป็นหลักราว 60% ของการนำเข้าเพชรทั้งหมด อีกทั้งอินเดียยังส่งออกเพชรเจียระไนเป็นอันดับต้นๆ ของโลก (อินเดียส่งออกเพชรเจียระไนราว 65% ของการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับทั้งหมด) จะได้รับผลกระทบจากการมีเพชรดิบสำหรับเจียระไนเพื่อนำไปส่งออกต่อและผลิตเป็นเครื่องประดับได้ลดน้อยลง ในระยะกลางถึงยาว หากอินเดียไม่สามารถหาเพชรก้อนจากแหล่งอื่นมาชดเชยกับปริมาณเพชรรัสเซียที่ลดลงได้ ก็จะกระทบต่อปริมาณเพชรเจียระไนและเครื่องประดับเพชรออกสู่ตลาดโลกลดลง และอินเดียก็อาจจะต้องเลิกจ้างงานช่างเจียระไนเพชรและช่างเครื่องประดับเพชรเพิ่มมากขึ้น2  ซึ่งอินเดียมีแรงงานในอุตสาหกรรมเจียระไนเพชรราวสองล้านคน โรงงานหลายแห่งอาจจะทยอยปิดตัวลง ในที่สุดก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าเพชรของอินเดียและตลาดเพชรโลกให้ชะลอตัวลง 

ที่มา: https://jewelrybyjohan.com/ ข้อมูลในเดือนมีนาคม 2566

 เช่นเดียวกับผู้ค้าและเจียระไนเพชรรายใหญ่ของโลกอย่างเบลเยียมและอิสราเอล ก็จะได้รับผลกระทบจากการไม่สามารถนำเข้าเพชรก้อนจากรัสเซียเพื่อนำไปเจียระไนและส่งออกต่อได้ ในขณะที่การผลิตเพชรก้อนของประเทศอื่นๆ ก็มีปริมาณลดลงทุกปี ทำให้เกิดการขาดแคลนเพชรก้อนสำหรับเจียระไน เสี่ยงต่อการเลิกจ้างงานแรงงานในอุตสาหกรรมเพชร3  และเมื่ออุปทานเพชรลดลง ก็จะผลักดันให้ราคาเพชรแท้ในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น กระทบต่อความต้องการซื้อของผู้บริโภคให้ลดน้อยลง เพราะปัจจุบันผู้บริโภคมีความอ่อนไหวต่อราคาสินค้าฟุ่มเฟือยมาก เนื่องจากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจในประเทศและของโลก 

และเมื่อเพชรเจียระไนมีราคาแพงขึ้น ผู้บริโภคก็มีแนวโน้มจะหันไปซื้อสินค้าทางเลือกอย่างเพชรสังเคราะห์มากขึ้น เนื่องจากมีโครงสร้างทางเคมีและความสวยงามเหมือนเพชรแท้แต่ราคาโดยเฉลี่ยถูกกว่า 50% ในขนาดและคุณภาพเท่ากัน และมีแนวโน้มที่ราคาอาจจะถูกกว่าเพชรแท้ 70-80% ได้ในอนาคต เพราะผู้ประกอบการได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตเพชรสังเคราะห์มากขึ้น ประกอบกับพฤติกรรมของผู้บริโภครุ่นใหม่โดยเฉพาะกลุ่มมิลเลนเนียลและ Gen Z ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคขนาดใหญ่ของโลก นิยมซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและไม่กระทบต่อสังคม ก็ยิ่งจะเพิ่มโอกาสให้ผู้คนหันไปเลือกซื้อเพชรสังเคราะห์มากขึ้น จะทำให้อุตสาหกรรมเพชรสังเคราะห์เติบโตมากขึ้น 

กราฟตัวอย่างเปรียบเทียบราคาเพชรแท้และเพชรสังเคราะห์

เพชรขนาด 1 กะรัต สี G ความสะอาด VS1 เจียระไน Ideal Cut

ภาพช่างเจียระไนเพชรในเมืองสุรัต ประเทศอินเดีย
ภาพ: www.indiatoday.in

จากข้อมูลของ GlobeNewswire คาดการณ์ว่าตลาดเพชรโลก (แบ่งเป็นเพชรธรรมชาติ 95% และเพชรสังเคราะห์ 5%) ในปี 2566 มีมูลค่า 94,190 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในช่วงปี 2566-2573 จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยประมาณ 4.5% ต่อปี และจากข้อมูลของ Imarcgroup รายงานคาดการณ์ว่า ในปี 2566 ตลาดเพชรสังเคราะห์ของโลกมีมูลค่าอยู่ที่ราว 16,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะเพิ่มเป็น 28,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2575 หรือมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 6.5% ต่อปี จากตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์สะท้อนให้เห็นได้ว่าเพชรสังเคราะห์มีแนวโน้มเติบโตสูงกว่าเพชรแท้ 

ที่มา: https://jewelrybyjohan.com/ ข้อมูลในเดือนมีนาคม 2566

จากข้อมูลของ GlobeNewswire คาดการณ์ว่าตลาดเพชรโลก (แบ่งเป็นเพชรธรรมชาติ 95% และเพชรสังเคราะห์ 5%) ในปี 2566 มีมูลค่า 94,190 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในช่วงปี 2566-2573 จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยประมาณ 4.5% ต่อปี และจากข้อมูลของ Imarcgroup รายงานคาดการณ์ว่า ในปี 2566 ตลาดเพชรสังเคราะห์ของโลกมีมูลค่าอยู่ที่ราว 16,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะเพิ่มเป็น 28,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2575 หรือมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 6.5% ต่อปี จากตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์สะท้อนให้เห็นได้ว่าเพชรสังเคราะห์มีแนวโน้มเติบโตสูงกว่าเพชรแท้ 

เครื่องประดับเพชรสังเคราะห์
ภาพ: www.thehonestconsumer.com

อย่างไรก็ดี นอกจากการห้ามนำเข้าเพชรจากรัสเซีย จะเป็นปัจจัยท้าทายต่ออุตสาหกรรมเพชรโลกที่จะเกิดการขาดแคลนเพชรก้อนสำหรับเจียระไนและผลิตเครื่องประดับเพชร และจะส่งผลกระทบต่อการค้าเพชรของโลกในแง่ลบแล้ว ยังมีปัจจัยเรื่องความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลก และปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศที่มีความตึงเครียดมากขึ้นในปีนี้ จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคซึ่งจะระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ฉะนั้น จึงมีโอกาสที่ผู้บริโภคจะหันไปซื้อเพชรสังเคราะห์แทนเพชรธรรมชาติมากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคยุคปัจจุบันเชื่อว่าเพชรสังเคราะห์มีความโปร่งใส ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและสังคม แต่มีราคาที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย เพชรสังเคราะห์จึงมีโอกาสเติบโตได้สูงขึ้นในปีนี้และในอนาคต

 

จัดทำโดย นางสาววาสนา สมเนตร์

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

กุมภาพันธ์ 2567

Share:

More Posts

โอกาสการเติบโตของตลาดเครื่องประดับเฉพาะบุคคล

ตลาดเครื่องประดับเฉพาะบุคคลกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในอุตสาหกรรมเครื่องประดับในปัจจุบัน เนื่องจากผู้บริโภคยุคใหม่ต้องการเครื่องประดับที่แสดงออกถึงความเป็นตัวตน

Auzi จากเครื่องช่วยฟังสู่ Smart Jewelry

เครื่องช่วยฟังนั้น เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้สำหรับผู้ที่มีปัญหาทางการได้ยิน ซึ่งปรับตั้งค่าตามผลตรวจการได้ยิน เพื่อทำหน้าที่ขยายเสียงให้พอดีกับระดับการได้ยินที่บกพร่องไปของแต่ละบุคคล