เครื่องช่วยฟังนั้น เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้สำหรับผู้ที่มีปัญหาทางการได้ยิน ซึ่งปรับตั้งค่าตามผลตรวจการได้ยิน เพื่อทำหน้าที่ขยายเสียงให้พอดีกับระดับการได้ยินที่บกพร่องไปของแต่ละบุคคล แต่เดิมมักมีรูปทรงที่บ่งบอกลักษณะของอุปกรณ์ทางการแพทย์ ไม่มีการออกแบบที่ทันสมัยมากนัก ซึ่งอาจทำให้ผู้สวมใส่รู้สึกไม่มั่นใจเมื่อต้องสวมใส่ ทว่าด้วยการพัฒนาของนวัตกรรมและกระแสแฟชั่นทำให้การสวมใส่เครื่องช่วยฟังแบบเดิมไม่ล้าสมัยอีกต่อไป

ด้วยการพัฒนาของนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้น เครื่องช่วยฟังก็เช่นเดียวกับสินค้าอื่นๆ ที่มีการปรับเปลี่ยนรูปโฉมให้มีความหลากหลาย มีความทันสมัยและขนาดที่เล็กลง พกพาง่ายขึ้น กระทั่งล่าสุด Auzi แบรนด์เครื่องประดับ ได้มีแนวคิดในการผสมผสานเครื่องช่วยฟังให้กลายเป็นเครื่องประดับล้ำสมัยสร้างความมั่นใจแก่ผู้สวมใส่ทั้งยังผสมผสานอุปกรณ์เทคโนโลยีในการช่วยฟังกลายเป็น Smart Jewelry ที่สวยงามลงตัว

Daniela Groza และ Declan McLaughlin เป็นสองผู้ก่อตั้งแบรนด์ที่เชื่อว่าการผสมผสานเครื่องช่วยฟังกับเครื่องประดับของแบรนด์จะกลายเป็นนวัตกรรมที่สร้างความสนใจให้เกิดขึ้นทั่วโลก

Declan McLaughlin หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ ได้กล่าวถึงจุดเริ่มต้นว่า ตัวเขาเองเป็นหนึ่งในผู้มีปัญหาทางการได้ยินตั้งแต่เกิด จึงต้องสวมเครื่องช่วยฟังมาโดยตลอด เขามักเกิดความรู้สึกหงุดหงิดและอายที่ต้องสวมใส่  เนื่องด้วยภาพลักษณ์ที่บ่งชี้ถึงความเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ รวมทั้งการทำสีเรียบๆ ให้เข้ากับผิวของผู้สวมใส่ เพื่อให้ไม่ให้เป็นที่เห็นชัดสะดุดตามากนัก แต่ Auzi ได้แปลงโฉมเครื่องช่วยฟังให้ผู้สวมใส่สามารถแสดง
อัตลักษณ์และสไตล์ส่วนตัวออกมาได้ โดยแบรนด์มีการผลิตสินค้าออกมากว่า 60 แบบ ตัวเรือนทำจากโลหะมีค่าอย่างเงิน ทอง 9K 18K และทองชมพู รวมทั้งยังมีการประดับพลอยสีและเพชร ซึ่งลูกค้าสามารถเลือกรูปแบบตามที่ต้องการได้ (Custom Design)

ภาพจาก https://www.jckonline.com/editorial-article/auzi-hearing-aid-jewelry-case/

ผู้ก่อตั้ง Auri ตั้งใจในการทำแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในฐานะผู้เปลี่ยนเครื่องช่วยฟังทางการแพทย์ให้กลายเป็นชิ้นงานสร้างสรรค์ทางศิลปะ ด้วยวัตถุดิบที่มีคุณภาพและการใช้งานด้วยเทคโนโลยีเอไอ เพื่อผสมผสานดีไซน์และเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน โดยยึดหลักการเรื่องคุณภาพและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ แบรนด์ตั้งเป้าหมายจะขยายสาขาจากลอนดอน สู่ปารีส นิวยอร์ก และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์   

จากแนวทางของแบรนด์นี้ อาจเป็นการจุดประกายให้วงการแพทย์และเครื่องประดับร่วมมือกัน สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ โดยไม่เพียงผลิตเพื่อการรักษาแต่มุ่งเน้นความสวยงามเพื่อจรรโลงใจผู้ป่วย ซึ่งไม่เพียงแต่ตอบโจทย์ด้านการใช้งาน แต่ยังส่งเสริมความมั่นใจและการแสดงออกถึงอัตลักษณ์ของผู้สวมใส่ได้อีกด้วย

จัดทำโดย นายพุทธิพร วิชัยดิษฐ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ตุลาคม 2567

Share:

More Posts

โอกาสการเติบโตของตลาดเครื่องประดับเฉพาะบุคคล

ตลาดเครื่องประดับเฉพาะบุคคลกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในอุตสาหกรรมเครื่องประดับในปัจจุบัน เนื่องจากผู้บริโภคยุคใหม่ต้องการเครื่องประดับที่แสดงออกถึงความเป็นตัวตน

The 7th China International Import Expo 2024

สมาคมการค้าอัญมณีและเครื่องประดับอาเซียน นำผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับไทย ร่วมงานแสดงสินค้า “The 7th China International Import Expo 2024” ระหว่างวันที่ 5-10 พฤศจิกายน 2567 ณ National Exhibitin and Convention Center (Shanghai), China