ตลาดเครื่องประดับเฉพาะบุคคลกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในอุตสาหกรรมเครื่องประดับในปัจจุบัน เนื่องจากผู้บริโภคยุคใหม่ต้องการเครื่องประดับที่แสดงออกถึงความเป็นตัวตน เหมาะสมกับบุคลิกหรือลักษณะเฉพาะของตนเองมากขึ้น ผู้ประกอบการหรือแบรนด์ต่างๆ จึงหันมาสร้างโอกาสธุรกิจโดยการให้ลูกค้าเข้าไปมีส่วนร่วมในการออกแบบเครื่องประดับ ตั้งแต่การเลือกวัสดุ อัญมณี ไปจนถึงการดีไซน์ได้ตามความต้องการของลูกค้า จึงทำให้เครื่องประดับเหล่านี้มีความพิเศษเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่แตกต่างจากเครื่องประดับทั่วไป
เครื่องประดับเฉพาะบุคคล กระแสยูนีคในตลาดเครื่องประดับโลก
การค้าปลีกเครื่องประดับในตลาดโลกกำลังเปลี่ยนจากการผลิตครั้งละจำนวนมากไปสู่การผลิตเครื่องประดับเฉพาะบุคคล การผลิตตามคำสั่งพิเศษของลูกค้า และจำนวนจำกัด เช่น การสลักชื่อบนจี้ แหวนตราสัญลักษณ์ (Signet Ring) และเครื่องประดับอัญมณีตามราศีเกิด เป็นต้น แม้อาจดูเหมือนเป็นแนวโน้มใหม่ แต่เครื่องประดับที่ทำตามความต้องการของลูกค้าได้เป็นที่นิยมมานานแล้วตั้งแต่สมัยโบราณ
จี้สลักชื่อและแหวนตราสัญลักษณ์มีรากฐานทางประวัติศาสตร์ที่ราชวงศ์มักสวมใส่อยู่เสมอ อย่างเช่นเจ้าหญิงไดอาน่าและแอนน์ โบลีน มักจะสวมสร้อยคอที่มีชื่อย่อ ส่วนแหวนตราสัญลักษณ์ซึ่งทำหน้าที่แทนลายเซ็นในยุคโบราณก็กลายเป็นสัญลักษณ์สถานะในหมู่ชนชั้นสูง และเป็นที่นิยมของลูกค้าทั่วไปมาจนถึงปัจจุบัน
เครื่องประดับหินสีประจำเดือนเกิดมีต้นกำเนิดจากความเชื่อของชาวฮินดูโบราณ ซึ่งระบุว่ามีอัญมณีบางชนิดที่มีความสัมพันธ์กับพลังแห่งจักรวาล ในทำนองเดียวกัน นักประวัติศาสตร์ในโลกตะวันตกได้เชื่อมโยงสัญลักษณ์จักรราศีทั้ง 12 กับอัญมณีทั้ง 12 เม็ดที่ฝังอยู่ในเสื้อเกราะของอาโรน[1]ในพระคัมภีร์ไบเบิล แนวโน้มในการสวมใส่อัญมณีประจำเดือนเกิดนี้กลายเป็นแฟชั่นในยุโรปช่วงศตวรรษที่ 16 และยังคงได้รับความนิยมมาจนถึงทุกวันนี้
ความต้องการของผู้คนในการแสดงออกถึงตัวตน บุคลิก มุมมอง และคุณค่าของตนเองนั้นเห็นได้ชัดมากขึ้นในปัจจุบัน ผู้บริโภคจึงต้องการเครื่องประดับเฉพาะบุคคลมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้คนสามารถแสดงความคิดสร้างสรรค์ออกแบบสิ่งที่เป็นตัวเองและเป็นเอกลักษณ์ของตนได้อย่างแท้จริง และด้วยการพัฒนาเครื่องประดับที่แตกต่างกันของแต่ละบุคคลอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จึงอาจกล่าวได้ว่าแนวโน้มนี้จะยังคงดำเนินต่อไปอีกหลายทศวรรษ
จากข้อมูลของ Cognitive Market Research รายงานว่า ในปี 2567 ตลาดเครื่องประดับเฉพาะบุคคลของโลก มีมูลค่าประมาณ 42,512 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 8.6% ต่อปี ในระหว่างปี 2567 – 2574
เครื่องประดับเฉพาะบุคคลในรูปแบบต่างๆ
เครื่องประดับเฉพาะบุคคลหรือเครื่องประดับส่วนบุคคล จะถูกออกแบบมาเฉพาะเจาะจงสำหรับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่งจะช่วยเชื่อมต่ออารมณ์และความรู้สึกของผู้สวมใส่ เช่น สร้อยข้อมือชาร์มที่สื่อถึงช่วงเวลาพิเศษ กลายเป็นสิ่งเตือนใจอันล้ำค่า ช่วยสะท้อนสไตล์และบุคลิกภาพที่เป็นเอกลักษณ์ และเป็นของขวัญพิเศษเฉพาะบุคคลที่จะช่วยสร้างความประทับใจให้กับผู้รับ โดยการผลิตเครื่องประดับส่วนบุคคลสามารถทำได้ดังนี้
การใช้เทคโนโลยีในการผลิต: การใช้เทคโนโลยีปรับแต่งสร้างความแตกต่างให้กับเครื่องประดับสำหรับลูกค้าแต่ละคน เช่น เครื่องพิมพ์แบบสามมิติ ช่วยให้นักออกแบบสามารถสร้างชิ้นงานเครื่องประดับที่สลับซับซ้อนและมีรายละเอียดสูงด้วยความแม่นยำและมีประสิทธิภาพ ชิ้นงานไม่ซ้ำใคร หรือการแกะสลักด้วยเลเซอร์ ซึ่ง
นักออกแบบสามารถออกแบบข้อความ ลวดลายที่ซับซ้อนบนพื้นผิวโลหะด้วยความแม่นยำและรายละเอียดที่ไม่เหมือนใคร หรือแกะสลักตามคำสั่งของลูกค้า ซึ่งสะท้อนแก่นแท้ของบุคลิกภาพและเรื่องราวของผู้สวมใส่ ตั้งแต่อักษรย่อและวันที่ไปจนถึงรูปแบบและสัญลักษณ์ที่ซับซ้อน
อาโรนเป็นพี่ชายของโมเสส และเป็นผู้เผยพระวจนะของพระยาห์เวห์ ได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นปุโรหิตประจำเผ่าเลวี และเป็นมหาปุโรหิตองค์แรกของวงศ์วานอิสราเอล
การผลิตตามคำสั่ง: ลูกค้าสามารถเลือกวัสดุ เช่น ทองคำ เงิน แพลทินัม เพชร และพลอยสีต่าง ๆ รวมถึงการออกแบบรูปทรง ขนาด และลวดลายที่ต้องการได้ อีกทั้งลูกค้ายังสามารถให้ร้านใส่ข้อความตัวเอง เช่น ชื่อ วันเกิด วันครบรอบแต่งงาน หรือข้อความพิเศษลงบนเครื่องประดับ ซึ่งทำให้สินค้าเหล่านี้มีความหมายพิเศษยิ่งขึ้น
การผลิตด้วยมือ: ผู้บริโภคกำลังมองหาเครื่องประดับที่สะท้อนความเป็นตัวตนและบอกเล่าเรื่องราวมากขึ้นเรื่อยๆ เครื่องประดับทำมือทำให้สามารถปรับแต่งได้ตามความต้องการของลูกค้า เช่น การแกะสลักชื่อ ใช้
อัญมณีประจำเดือนเกิด หรือสัญลักษณ์ที่มีความหมาย เป็นการเพิ่มความรู้สึกส่วนตัวและทำให้เครื่องประดับมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นจี้ สร้อยข้อมือ หรือแหวน การแกะสลักข้อความหรือเพิ่มสัญลักษณ์จะช่วยให้ลูกค้าได้ชิ้นงานที่แตกต่างไม่ซ้ำใคร
การใช้ภาพถ่ายหรือรูปภาพ: เครื่องประดับที่มีการใช้ภาพถ่ายของคนที่รักหรือภาพถ่ายที่มีความหมายเช่น จี้ที่มีรูปภาพของครอบครัว หรือกำไลที่มีภาพถ่ายของลูก เป็นต้น
การนำสิ่งของหรือวัสดุที่มีความหมายพิเศษมาใช้: การนำวัสดุหรือสิ่งของที่มีความสำคัญทางจิตใจมาใช้ในเครื่องประดับ เช่น การใส่เถ้ากระดูกของบุคคลอันเป็นที่รักในจี้ หรือการใส่เส้นผมในแหวน เป็นต้น
การเน้นที่ความยั่งยืน: ผู้บริโภคยุคใหม่มีความสนใจในเรื่องของความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้มีการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีการทำงานร่วมกับช่างฝีมือท้องถิ่นมากขึ้น การรับรองและการตรวจสอบที่มาของวัสดุ เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกระบวนการผลิต ซึ่งการผลิตเครื่องประดับเฉพาะบุคคลสามารถเลือกใช้วัสดุที่ยั่งยืนและมีจริยธรรม เช่น โลหะรีไซเคิล และอัญมณีที่ปราศจากความขัดแย้ง ซึ่งสอดคล้องกับคุณค่าที่ต้องการของผู้บริโภค
ปัจจุบันผู้ค้าปลีกเครื่องประดับมักขายเครื่องประดับผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และโซเชียลมีเดียต่างๆ ซึ่งทำให้เข้าถึงผู้บริโภคทั่วโลกได้ง่ายขึ้น และได้มีการใช้เทคโนโลยี AR (Augmented Reality) เพื่อให้ผู้บริโภคเลือกรูปแบบและลองสวมใส่เครื่องประดับแบบเสมือนจริงก่อนการตัดสินใจซื้อ ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้เครื่องประดับเฉพาะบุคคลเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ผู้ค้า/แบรนด์ของไทยหลายรายก็ให้บริการออกแบบและผลิตเครื่องประดับเฉพาะบุคคลหรือตามคำสั่งของลูกค้ามากขึ้น เช่น แบรนด์ TM MADE BY HEART ซึ่งวางคอนเซปต์ให้ TM MADE BY HEART เป็น Personalized Jewelry คือจะออกแบบเครื่องประดับเปล่าๆ ไว้ แล้วลูกค้าสามารถสลักหรือดีไซน์โดยตัวเองได้ โดยจะมีทั้งแหวน สร้อย สร้อยข้อมือ และลูกค้าสามารถให้สลักชื่อ วันเกิด คำที่ชอบ ชื่อคู่รักแบบตัวย่อ หัวใจ อีกทั้งมีสัญลักษณ์ที่ร้านคิดขึ้นมาเองด้วย เช่น ยูนิคอร์น ช้าง สิงห์ เป็นต้น
ตลาดสำหรับเครื่องประดับยูนีคเฉพาะบุคคล
ตลาดเครื่องประดับเฉพาะบุคคลที่กำลังเติบโตดีและมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น ได้แก่
สหรัฐอเมริกา
ตลาดสำคัญสำหรับเครื่องประดับที่ออกแบบเฉพาะบุคคล โดยมีแบรนด์ชั้นนำและผู้ค้าปลีกจำนวนมากนำเสนอตัวเลือกที่ลูกค้าปรับเปลี่ยนหรือกำหนดได้เอง เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับเครื่องประดับที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยมีการนำนวัตกรรมต่างๆ เช่น การพิมพ์ 3 มิติ มาใช้ปฏิวัติกระบวนการปรับแต่งเครื่องประดับตามความต้องการของลูกค้า รวมถึงใช้ AI ช่วยในการออกแบบเครื่องประดับได้อย่างไม่มีขีดจำกัด
ส่วนช่องทางที่มีผลต่อการซื้อเครื่องประดับเฉพาะบุคคลในสหรัฐฯ คือ โซเชียลมีเดียซึ่งได้เปลี่ยนวิธีการซื้อเครื่องประดับของผู้บริโภคชาวอเมริกัน โดยเฉพาะ Instagram และ Pinterest ที่มักนำเสนอสิ่งที่กำลังมาแรงในสหรัฐอเมริกาและมีอิทธิพลต่อรสนิยมของผู้โภค เมื่อผู้บริโภคได้เห็นเหล่าคนดังสวมใส่เครื่องประดับที่เป็นเอกลักษณ์ผ่านแพลตฟอร์มเหล่านี้ ก็เกิดความต้องการเป็นเจ้าของด้วยเช่นกัน และทำให้มีเทรนด์ติดแฮชแท็ก เช่น #CustomJewelry ตามมา แพลตฟอร์มเหล่านี้ช่วยให้ผู้คนค้นหาร้านขายเครื่องประดับที่สามารถสร้างชิ้นงานเฉพาะบุคคลได้ ซึ่งสร้อยคอและแหวนแบบสั่งทำพิเศษกำลังเป็นที่นิยมในตลาดสหรัฐอเมริกา
ฉะนั้น ตลาดเครื่องประดับที่สั่งทำพิเศษในสหรัฐฯ จึงมีแนวโน้มเติบโตดี โดยคาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้บริโภคต้องการเครื่องประดับที่สะท้อนถึงสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองและไม่ซ้ำใครเพิ่มมากขึ้น จากข้อมูลของ Cognitive Market Research รายงานว่า ในปี 2567 ตลาดเครื่องประดับเฉพาะบุคคลในอเมริกาเหนือ ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดหลัก มีมูลค่าตลาดประมาณ 17,004 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยปีละ 6.8% ในช่วงระหว่างปี 2567 – 2574
ยุโรป
ยุโรปมีแนวโน้มต้องการเครื่องประดับไม่ซ้ำใครจึงทำให้ความต้องการเครื่องประดับเฉพาะบุคคลเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในประเทศหลักอย่างสหราชอาณาจักร เยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี เป็นต้น ลูกค้าในยุโรปให้ความสำคัญกับคุณค่าทางจิตใจและคุณค่าของชิ้นงานที่แสดงออกถึงเอกลักษณ์หรือสไตล์ของตนเอง โดยเครื่องประดับที่ทำจากทองคำสีเหลืองและทองขาวยังเป็นวัสดุที่ได้รับความนิยมมาก รวมถึงแพลทินัม และเพชรก็โดดเด่นเช่นกัน ปัจจุบันมีบริษัทชั้นนำของโลกอย่าง Tiffany & Co., Pandora และ Cartier รวมถึงผู้ค้าเครื่องประดับรายกลางและย่อยจำนวนมาก ต่างก็หันมาให้บริการสร้างสรรค์ชิ้นงานตามคำสั่งของลูกค้ามากขึ้น ตลาดเครื่องประดับเฉพาะบุคคลในยุโรปจึงมีแนวโน้มขยายตัวดีในอนาคต ทั้งนี้ จากข้อมูลของ Cognitive Market Research รายงานว่า ในปี 2567 ตลาดเครื่องประดับเฉพาะบุคคลในยุโรปมีมูลค่าประมาณ 12,753 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เอเชีย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย กำลังมีความต้องการเครื่องประดับเฉพาะบุคคลที่เพิ่มขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจีนเป็นตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยจีนเป็นศูนย์กลางสำคัญในการผลิตและปรับแต่งเครื่องประดับตามคำสั่งหรือความต้องการของลูกค้า และมีผู้บริโภครุ่นใหม่อย่างมิลเลเนียลและ Gen Z เป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนตลาดเครื่องประดับเฉพาะบุคคล ซึ่งต้องการเครื่องประดับรูปแบบพิเศษและทันสมัยที่มีการออกแบบเฉพาะเจาะจงและใช้วัสดุคุณภาพสูง เป็นเครื่องประดับที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และใส่ใจกับความโปร่งใสสุจริตด้วย
สำหรับตลาดเครื่องประดับเฉพาะบุคคลในเอเชียก็มีแนวโน้มขยายตัวดี โดยจากข้อมูลของ Cognitive Market Research รายงานว่า ในปี 2567 ตลาดเครื่องประดับเฉพาะบุคคลในเอเชียมีมูลค่าราว 9,777 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยปีละ 10.6% ในช่วงระหว่างปี 2567 – 2574
ตะวันออกกลาง
ตลาดเครื่องประดับเฉพาะบุคคลในตะวันออกกลางมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเทศที่มีเศรษฐกิจแข็งแกร่ง และผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูง เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ และคูเวต โดยได้รับแรงหนุนจากหลายปัจจัยสำคัญ เช่น ความชอบของผู้บริโภคในเครื่องประดับที่ออกแบบเฉพาะบุคคล การเพิ่มขึ้นของผู้ซื้อทางออนไลน์ และการท่องเที่ยว ก่อให้เกิดการขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกเครื่องประดับในภูมิภาคนี้
โดยผู้บริโภคในตะวันออกกลางกำลังมองหาเครื่องประดับที่ออกแบบเฉพาะตัวและออกแบบตามความต้องการด้วยการออกแบบที่เหนือกว่าและการตกแต่งที่โดดเด่นด้วยวัสดุที่มีคุณภาพสูง ไม่ว่าจะเป็นการผลิตชิ้นเดียวหรือชิ้นที่ออกแบบเองซึ่งสะท้อนถึงสไตล์เฉพาะตัวของผู้สวมใส่ โดยผู้บริโภคคาดหวังในคุณภาพงานฝีมือและความใส่ใจในรายละเอียดของผู้ผลิตชิ้นงาน อีกทั้งเครื่องประดับจะต้องสามารถสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน และเข้ากับเสื้อผ้าที่สวมใส่ ซึ่งสะท้อนถึงสไตล์ของแต่ละคน
จากข้อมูลของ Cognitive Market Research รายงานว่า ในปี 2567 ตลาดเครื่องประดับเฉพาะบุคคลในตะวันออกกลางจะมีมูลค่าราว 850 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยปีละ 8.3% ในช่วงระหว่างปี 2567 – 2574
ความท้าทายและโอกาสในตลาด
ท่ามกลางการขยายตัวของตลาดเครื่องประดับเฉพาะบุคคล แต่ก็มีความท้าทายที่ผู้ประกอบการจะต้องพิจารณา เพื่อปรับตัวให้สามารถเจาะตลาดกลุ่มลูกค้ายูนีคได้ ดังนี้
การแข่งขันสูง: ด้วยความที่ตลาดเครื่องประดับเฉพาะบุคคลมีความนิยมมากขึ้น ทำให้มีผู้ประกอบการเข้ามาในตลาดมากขึ้นทั้งรายเล็กและรายใหญ่ ซึ่งผู้ประกอบการต้องหากลยุทธ์และการออกแบบที่สร้างความแตกต่างและดึงดูดผู้บริโภคให้ได้
การรักษาคุณภาพและความเป็นเอกลักษณ์: การรักษามาตรฐานของสินค้าและการออกแบบที่คงความเป็นเอกลักษณ์อย่างแท้จริงเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นและความภักดีให้แก่ลูกค้า
การขยายตลาดสู่ต่างประเทศ: สำรวจตลาดเป้าหมายเพื่อเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละประเทศ ปรับปรุงและออกแบบเครื่องประดับให้สอดคล้องกับรสนิยมและวัฒนธรรมของตลาดเป้าหมาย โดยอาจขยายช่องทางการขายผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและเว็บไซต์ต่างประเทศที่มีชื่อเสียง เช่น Amazon, Alibaba, หรือ Etsy รวมถึงพัฒนาความร่วมมือกับร้านค้าปลีกและดีลเลอร์ในต่างประเทศเพื่อจัดจำหน่ายสินค้าในตลาดท้องถิ่น อีกทั้งควรใช้โซเชียลมีเดียและแคมเปญการตลาดออนไลน์เพื่อสร้างการรับรู้ในกลุ่มผู้บริโภคในต่างประเทศ และเข้าร่วมงานแสดงสินค้าและงานนิทรรศการระดับนานาชาติเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าและพันธมิตรทางธุรกิจ
ธุรกิจเครื่องประดับเฉพาะบุคคลเป็นการผสมผสานระหว่างความคิดสร้างสรรค์และความสามารถในการดำเนินธุรกิจ ผู้ประกอบการอาจเริ่มต้นธุรกิจนี้ด้วยการให้บริการออกแบบและทำตัวเรือน (Setting) พร้อมกับจัดหาอัญมณีหลากหลายชนิดทั้งเพชรแท้ เพชรสังเคราะห์ หรือพลอยสีต่างๆ ให้ลูกค้าได้เลือกใส่ในตัวเรือน รวมถึงการใช้เลเซอร์สลักชื่อ ข้อความ และสัญลักษณ์ต่างๆ ตามความต้องการลูกค้า
ส่วนช่องทางการขายเครื่องประดับเฉพาะบุคคลนั้น ควรขายทั้งแบบหน้าร้านและออนไลน์ โดยช่องทางออนไลน์ ผู้ประกอบการอาจสร้างเว็บไซต์ของตนเองและใช้แพลตฟอร์ม e-commerce เช่น Shopify, Etsy หรือ Amazon Handmade และใช้โซเชียลมีเดีย เช่น Instagram, Facebook และ Pinterest ในการโปรโมทสินค้า รวมทั้งเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับต่างๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการพบลูกค้าใหม่
ตลาดเครื่องประดับเฉพาะบุคคลยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่อไปในอนาคต เนื่องจากผู้บริโภคต้องการสินค้าที่มีความหมายและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากขึ้น ธุรกิจที่สามารถปรับตัวเข้ากับแนวโน้มเหล่านี้และสามารถจัดหาเครื่องประดับคุณภาพสูงที่เป็นเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร ตรงตามความต้องการของลูกค้า และมีแหล่งที่มาอย่างมีจริยธรรม ก็จะมีโอกาสที่ดีที่จะประสบความสำเร็จในตลาดเครื่องประดับเฉพาะบุคคลที่มีการแข่งขันสูงนี้ได้
จัดทำโดย นางสาววาสนา สมเนตร์
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
พฤษภาคม 2567