Soft Power คืออะไร?
ตัวอย่าง Soft Power กับธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ
หลายคนอาจยังนึกไม่ออกว่า Soft Power มีผลต่อธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับอย่างไร แต่ถ้าพูดถึงทองเคอิตาลี ทุกคนก็จะรู้ว่าเป็นสร้อยทองเคผลิตในอิตาลี เป็นที่ชื่นชอบของคนทั่วโลก หรือหากพูดถึงศูนย์กลางเจียระไนเพชรและผลิตเครื่องประดับด้วยฝีมือประณีตสวยงาม หลายคนคงนึกถึงอินเดียเป็นอันดับต้นๆ อย่างแน่นอน ซึ่งทั้งอิตาลีและอินเดียเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วย Soft Power มาช้านาน ทั้งนี้ องค์กร Brand Finance ได้จัดอันดับประเทศที่มี Soft Power (Global Soft Power Index 2023) ทรงพลังมากที่สุดในโลกในปี 2566 โดยอิตาลีถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 9 และอินเดียอยู่ในอันดับที่ 28 ในขณะที่ไทยอยู่ในอันดับที่ 41 ของโลก
อิตาลี
อิตาลีถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางทางด้านศิลปะ แฟชั่น ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมในยุโรป นับตั้งแต่สมัยจักรวรรดิโรมันเป็นต้นมา และเครื่องประดับก็เป็นส่วนสำคัญของประวัติศาสตร์อันยาวนานนี้มาโดยตลอด ซึ่งในสมัยนั้นอิตาลีมีทองคำในประเทศจำนวนมาก จึงนำทองคำเหล่านั้นไปใช้ผลิตเครื่องประดับทอง ทำให้เกิดช่างผลิตเครื่องประดับทองมีฝีมือชั้นดีที่มีชื่อเสียงมากมายตลอดประวัติศาสตร์ของอิตาลี และปัจจุบันอิตาลีได้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ผลิตเครื่องประดับทองที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เป็นที่ตั้งของบริษัทเครื่องประดับที่มีชื่อเสียงหลายราย โดยบริษัทที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของโลกคือ Bvlgari แบรนด์เครื่องประดับหรูหราที่ทั่วโลกรู้จักกันเป็นอย่างดี
อิตาลีได้สั่งสมชื่อเสียงการผลิตสินค้าด้วยความประณีตสวยงาม สร้าง Made in Italy ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของคุณค่าและคุณภาพสูงตั้งแต่สินค้าแฟชั่นไปจนถึงอาหาร รวมถึงการออกแบบ การผลิตเครื่องประดับหรูซึ่งมีความสวยงามร่วมสมัยของศิลปะวัฒนธรรมอัตลักษณ์ท้องถิ่นของแต่ละภูมิภาคกับนวัตกรรมการผลิตสมัยใหม่
อีกทั้งปัจจุบันยังได้รวมแนวคิดความยั่งยืนและเคารพผู้อื่นเข้าไปใน Made in Italy ซึ่ง Made in Italy กลายเป็น Soft Power ผลักดันให้สินค้าหลายชนิดของอิตาลีเป็นที่ต้องการของทั่วโลก
การสร้าง Soft Power ของอินเดียเริ่มต้นหลังจากอินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษ ซึ่งอินเดียได้จัดตั้ง Indian Council for Cultural Relations หรือ ICCR ขึ้น เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมกับนานาประเทศ ในปี 2513 อินเดียได้เริ่มจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมอินเดียในหลายประเทศทั่วโลก (ปัจจุบันมีอยู่ 36 แห่งทั่วโลก) เพื่อขยายพลัง Soft Power ไปยังประเทศต่างๆ โดยทำงานอย่างใกล้ชิดกับสถานเอกอัคราชทูตอินเดียในประเทศนั้นๆ และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาอินเดียก็กลับมาผลักดัน Soft Power อย่างจริงจังผ่าน ICCR เพื่อทำให้อินเดียมีตัวตนเป็นที่รู้จักและยอมรับในตลาดโลกมากขึ้นในหลากหลายมิติ ซึ่งเครื่องประดับก็เป็นหนึ่งในสินค้าที่รัฐบาลอินเดียส่งเสริมผ่านการขาย Soft Power สื่อสารการเป็นเครื่องประดับรูปแบบร่วมสมัยมีกลิ่นอายวัฒนธรรมศิลปะแบบอินเดีย แต่คงความประณีตสวยงามให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
Soft Power ผลักดันธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับไทยสู่ตลาดโลก
อัญมณีและเครื่องประดับไทยเป็นสินค้าเอกลักษณ์โดดเด่นไม่แพ้ชาติอื่น จากทับทิมสยามที่เลื่องชื่อตั้งแต่เมื่อกว่า 40 ปีก่อน แม้ทับทิมสยามจะแทบไม่มีให้ขุดแล้วในปัจจุบัน แต่การพัฒนาฝีมือเจียระไนพลอยสีและการปรับปรุงคุณภาพพลอยสี ก็ยังทำให้ชื่อเสียงพลอยสีของไทยยังคงมีอยู่ นอกจากนี้ไทยยังมีการผลิตเครื่องประดับด้วยมือจากภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นของแต่ละจังหวัดหลายภูมิภาคทั่วประเทศ ทำให้เครื่องประดับของไทยมี
อัตลักษณ์สวยงามไม่ซ้ำใคร เช่น เครื่องประดับเงินน่าน เครื่องประดับเงินเชียงใหม่ ประเกือม (เครื่องประดับเงินโบราณสุรินทร์) เครื่องประดับทองสุโขทัย และเครื่องประดับทองเพชรบุรี เป็นต้น
อย่างไรก็ดี การนำสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับอัตลักษณ์ไทยออกสู่ตลาดโลกผ่านพลัง Soft Power จะต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยี ประยุกต์เข้ากับวัฒนธรรมและภูมิปัญญา เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับอัญมณีและเครื่องประดับไทย ทำให้สินค้าอัตลักษณ์เข้ากับเทรนด์แฟชั่นสมัยใหม่ ในขณะเดียวกันก็เป็นการสะท้อนคุณค่าและตัวตนของสินค้าไทยให้ชาวต่างชาติรับรู้และมองเห็น โดยสื่อสารผ่านภาพยนตร์ ละคร และมิวสิกวิดีโอ ซึ่งเข้าถึงคนต่างชาติได้ง่าย
สำหรับการผลักดันสร้างดีมานต์สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยในตลาดโลกผ่านการขาย Soft Power ควรเป็นความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน สมาคมต่างๆ และภาครัฐ โดยภาครัฐควรสนับสนุนเอกชนในการนำเสนออัญมณีและเครื่องประดับแฝงในภาพยนตร์ ละคร และดนตรี สนับสนุนทั้งด้านการเงิน การตลาด รวมถึงกำหนดนโยบายที่ช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการคิดสร้างสรรค์ และสร้างพื้นที่โปรโมทและโฆษณาอัญมณีและเครื่องประดับไทยผ่านสื่อหรือแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้คนทั่วโลกคิดว่าถ้ามาเที่ยวเมืองไทยจะต้องซื้ออัญมณีหรือเครื่องประดับของไทยกลับไป หรือถ้าจะนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไปจำหน่ายในประเทศจะต้องนึกถึงไทยเป็นอันดับต้นๆ
จัดทำโดย นางสาววาสนา สมเนตร์
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ธันวาคม 2566
บทความจาก : https://infocenter.git.or.th/article/article-20231206