ตลาดทับทิมยังคงมีแนวโน้มคึกคัก สะท้อนให้เห็นว่าพลอยสีแดงคุณภาพเยี่ยมนี้ยังคงมีมนต์เสน่ห์ดึงดูดแบรนด์เครื่องประดับชั้นสูง นักสะสม และนักออกแบบอิสระได้ไม่เสื่อมคลาย

ทับทิม มีสีสันหลากหลายเฉดตั้งแต่สีอมชมพูไปจนถึงสีแดงเข้ม โดยทับทิมสีเลือดนกพิราบจากเมืองโมกก ประเทศเมียนมา เป็นที่ตลาดต้องการและมีราคาสูงในตลาดโลก เนื่องด้วยเป็นสีที่หาได้ยาก และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์

โมซัมบิกเป็นอีกแหล่งหนึ่งที่กำลังก้าวขึ้นมาเป็นประเทศผู้ผลิตทับทิมรายสำคัญ โดยทับทิมที่ผลิตได้มีคุณภาพใกล้เคียงกับเมียนมา ในการประมูลโดย Sotheby ในนิวยอร์ก ทับทิม Estrela de Fura ขนาด 55.22 กะรัต จากโมซัมบิกถูกประมูลไปด้วยราคา 34.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นับเป็นมูลค่าการประมูลทับทิมและพลอยสีที่สูงเป็นสถิติโลก การประมูลนี้ยิ่งสร้างชื่อเสียงให้กับทับทิมโมซัมบิกในฐานะอัญมณีที่ตลาดโลกต้องการ เช่นเดียวกับทับทิมจากเวียดนามที่ห้องปฎิบัติการตรวจสอบอัญมณีของ Gübelin ได้มอบรางวัลแก่ทับทิมสดสีเลือดนกพิราบ น้ำหนัก 6.91 กะรัต จากเวียดนาม ชื่อThe Red Treasure ของ Phuong Thu Lê ผู้ค้าอัญมณีชาวเวียดนาม

ความต้องการของตลาด

ทับทิมยังมีโอกาสทางการค้าที่สดใส ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมมองว่าทับทิมคุณภาพสูงและปานกลางยังเป็นที่ต้องการของแบรนด์เครื่องประดับและนักออกแบบอิสระ แต่หากเป็นผู้ผลิตเครื่องประดับที่ผลิตในปริมาณมากจะใช้ทับทิมเกรดทั่วไปที่มีราคาประหยัด การเลือกใช้ทับทิมเกรดนี้ยังคงที่เนื่องจากมีฐานผู้ใช้สูงกว่า

ทั้งนี้ ทับทิมคุณภาพสูงไม่ว่าจะมาจากแหล่งไหนก็สามารถขายได้ราคาสูง เห็นได้จากกรณีทับทิมโมซัมบิกซึ่งในช่วงหลายปีมานี้ปริมาณการผลิต ขนาดโดยเฉลี่ย และคุณภาพลดลง แต่ปรากฏว่าในช่วงสองปีมานี้ ราคาของทับทิมโมซัมบิกสูงขึ้นอย่างน้อย 50%

ความนิยมในหมู่ผู้บริโภค

ในทรรศนะของชวิน ตระกูลมีโชคชัย ผู้ช่วยผู้อำนวยการ Lim Gems Factory เห็นว่า แม้ว่าในตลาดจะมีทับทิมทุกเกรด แต่ที่มีคุณภาพสูงจริงๆ กลับหายากขึ้น โดยทั่วไปผู้ซื้อชอบทับทิมที่มีสีแดงเข้มมากกว่าสีออกชมพู ม่วง หรือเข้มกว่านั้น โดยสีแดงเลือดนกพิราบยังคงได้รับความนิยมสูงสุด ทับทิมรูปไข่ น้ำหนัก 1 กะรัตและมากกว่านั้นยังมีความต้องการสูง

Li Chongjie ซีอีโอและผู้ก่อตั้งบริษัท ไชน่า สโตน์ จำกัด กล่าวว่า ลูกค้าของตนส่วนใหญ่ต้องการทับทิม Precision Cut สีสันสดใส สะอาด และรูปทรงเจียระไนได้สัดส่วน ตลาดมีความต้องการทับทิมน้ำหนักระหว่าง 0.2 ถึง 0.5 กะรัตมาก ทับทิมเจียระไนทรงกลมและสี่เหลี่ยมจตุรัสส่วนใหญ่มีราคาตั้งแต่ประมาณ 250 ถึง 450 เหรียญสหรัฐฯ ต่อกะรัต

Navneet Agarwal ผู้อำนวยการของ Navneet Gems and Minerals สังเกตเห็นว่า ทับทิมสีชมพูมียอดขายสูงขึ้น เพราะภาพยนตร์เรื่อง Barbie ที่ออกฉายเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่า เทรนด์ตามวัฒนธรรมและกระแสออนไลน์ยังมีอิทธิพลให้ผู้บริโภคชื่นชอบพลอยสีใดสีหนึ่งโดยเฉพาะ นอกจากนี้ ทับทิมเหลี่ยมมรกต ทรงกลม รูปไข่ และหยดน้ำที่มีน้ำหนักระหว่าง 1 ถึง 2 กะรัตก็มีแนวโน้มจะได้รับความนิยมมากที่สุด โดยสหรัฐฯ จีน ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น มีแนวโน้มที่จะเป็นกลไกขับเคลื่อนให้การค้าทับทิมเติบโต

ความท้าทาย

ปริมาณทับทิมเมียนมาที่ลดลงจากมาตรการคว่ำบาตรและข้อกังวลเรื่องจริยธรรมได้ส่งผลกระทบต่อความต้องการทับทิมในตลาดโลก โดยได้นำไปสู่การพิจารณาทับทิมจากแหล่งอื่นมากขึ้น และประเมินวิธีการที่ภาคอุตสาหกรรมจะจัดการเรื่องแหล่งใหม่ๆ ที่มีจริยธรรมและความรับผิดชอบ

Jeffery Bergman จาก Eighth Dimension Gems ตั้งข้อสังเกตว่า ทับทิมเมียนมามีราคาสูงขึ้นมากจากปริมาณที่ลดลง ผู้ค้าต้องแสวงหาพลอยคุณภาพสูงจากตลาดรองอย่างในงานประมูลอัญมณี เห็นได้จากเมื่อไม่นานมานี้ ทับทิมเมียนมาหนัก 7.1 กะรัต ไม่ผ่านการเผา ขายได้ในราคา 3.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 459,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อกะรัต ซึ่งเป็นราคาสูงเกือบ 12 เท่าของมูลค่าประเมินก่อนการประมูล

ขณะเดียวกัน ในประเทศไทยและแอฟริกานั้นปัจจุบันตลาดหันมาให้ความสนใจเพิ่มขึ้นกับทับทิมจากเวียดนาม อัฟกานิสถาน โมซัมบิก และมาดากัสการ์ โดยทับทิมอัฟกานิสถานและเวียดนามวางจำหน่ายในราคาต่ำกว่าทับทิมเมียนมาประมาณ 20 ถึง 30% จึงน่าจะยังมีพื้นที่อีกมากให้ราคาขยับสูงขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

นอกจากปัญหาเรื่องการขาดแคลนอุปทานพลอยสีข้างต้นแล้ว ปัจจุบันผู้ค้ายังเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากราคาพลอยก้อน ค่าแรง ค่าขนส่ง และการประกันภัยเมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนการระบาดของโควิด-19 อีกด้วย

 

เทรนด์และนวัตกรรม

นักออกแบบเริ่มนำเอาทับทิมมาออกแบบให้แปลกแตกต่างไปจากเดิมเพื่อเพิ่มลูกเล่นใหม่ๆ ให้กับเครื่องประดับ วิธีการอันหลากหลายและสร้างสรรค์ที่บรรดานักออกแบบนำมาใช้ได้ช่วยขับเน้นให้เห็นถึงความสวยสดงดงามของทับทิมและช่วยสร้างความหลากหลายในการสวมใส่และใช้ร่วมกับเครื่องประดับชิ้นอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี

ภาพจาก www.jewellerynet.com

ต่างหูทับทิมตกแต่งร่วมกับโอปอลสีชมพู สร้างความน่าดึงดูดจากความขัดแย้ง ผลงานเครื่องประดับ Jaipur Collection ของ GYAN Jaipur

ต่างหูแบบครอบประดับด้วยทับทิมทรงมาคีส์บนตัวเรือนทอง 18 เค ชุบเคลือบด้วยโรเดียมสีดำ    ผลงานเครื่องประดับแบรนด์ Savolinna จากดูไบ

ภาพจาก www.jewellerynet.com

แปลและเรียบเรียงโดย ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ตุลาคม 2566

Share:

More Posts

โอกาสการเติบโตของตลาดเครื่องประดับเฉพาะบุคคล

ตลาดเครื่องประดับเฉพาะบุคคลกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในอุตสาหกรรมเครื่องประดับในปัจจุบัน เนื่องจากผู้บริโภคยุคใหม่ต้องการเครื่องประดับที่แสดงออกถึงความเป็นตัวตน

Auzi จากเครื่องช่วยฟังสู่ Smart Jewelry

เครื่องช่วยฟังนั้น เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้สำหรับผู้ที่มีปัญหาทางการได้ยิน ซึ่งปรับตั้งค่าตามผลตรวจการได้ยิน เพื่อทำหน้าที่ขยายเสียงให้พอดีกับระดับการได้ยินที่บกพร่องไปของแต่ละบุคคล