Impacts of India-UAE CEPA on Thai Gem and Jewelry

อินเดียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ได้ลงนามในข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Comprehensive Economic Partnership Agreement: CEPA) ในการประชุมสุดยอด India-UAE Virtual Summit เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022 โดยมีผลบังคับใช้ในการลดและยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกันเมื่อเดือนพฤษภาคม 2022 เป็นต้นมานั้น ทำให้สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของอินเดียมีแต้มต่อในตลาดยูเออีมากขึ้น และใช้ยูเออีเป็นประตูสู่ตลาดตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ในขณะที่ไทยอาจเสียเปรียบอินเดียในเรื่องของต้นทุนสินค้าที่สูงกว่าจากภาษีนำเข้าในอัตราปกติ โดยเฉพาะสินค้าที่อินเดียมีศักยภาพอย่างเครื่องประดับทอง ที่อาจทำให้การเพิ่มส่วนแบ่งตลาดเครื่องประดับทองในยูเออีทำได้ยากขึ้น แต่สินค้าศักยภาพของไทยอย่างพลอยสีจะไม่ได้รับผลกระทบจากความตกลงนี้ และไทยน่าจะส่งออกพลอยสีไปยังอินเดียและยูเออีได้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันไทยจะได้รับผลดีจากการส่งออกวัตถุดิบและสินค้ากึ่งวัตถุดิบไปยังอินเดียเพื่อส่งออกต่อและแปรรูปเป็นเครื่องประดับส่งออกไปยังยูเออีและตลาดในตะวันออกกลางเพิ่มขึ้น

ความตกลง CEPA อินเดีย-ยูเออี

           ความตกลง CEPA ระหว่างอินเดียและยูเออี มีสาระสำคัญในการลดและยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกันครอบคลุมสินค้ากว่า 80% ของการค้าสินค้าทั้งหมด โดยอินเดียทยอยลดภาษีนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับซึ่งมีภาษีนำเข้าสูงสุด 25% เป็น 0 ภายใน 10 ปี ส่วนยูเออีลดภาษีนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจากเดิมสูงสุดไม่เกิน 5% เป็น 0 ทั้งหมดทันทีที่มีผลบังคับใช้ปรากฎรายละเอียดตามตาราง รวมถึงขจัดอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี มีมาตรการป้องกันกรณีการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และกำหนดสัดส่วนวัตถุดิบภายในประเทศผู้ผลิต (Local Content) ไม่น้อยกว่า 40% ของสินค้าที่ส่งออกระหว่างกัน ตลอดจนกฎระเบียบเกี่ยวกับการตรวจเอกสารรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin: CO) โดยความตกลงฉบับดังกล่าวมีเป้าหมายส่งเสริมให้มีการค้าระหว่างกันเป็นมูลค่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 ที่การค้าระหว่างอินเดียและยูเออีในปี 2019 มีมูลค่าราว 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเพิ่มมูลค่าการค้าภาคบริการเป็น 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในระยะเวลา 5 ปี

เป้าหมายของ CEPA อินเดีย-ยูเออี เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าสินค้า บริการ รวมถึงการลงทุน และจ้างงานเพิ่มขึ้นเป็นล้านตำแหน่งในอินเดียและยูเออี

ตารางอัตราภาษีนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับของอินเดียและยูเออี

ที่มา: www.worldtariff.com และ Department of Commerce, Ministry of Commerce and Industry (Government of India)       ข้อมูล ณ วันที่ 10 มิถุนายน 2566

นอกจากภาษีนำเข้าแล้วอินเดียและยูเออียังมีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย โดยอินเดียใช้ระบบ GST (Goods and Services Tax) ในอัตรา 0.25% – 3% ดังนี้ เพชรก้อน พลอยก้อน และอัญมณีสังเคราะห์ถูกเก็บ GST ในอัตรา0.25% เพชรเจียระไนถูกเก็บ GST ที่ 1.5% ส่วนสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่เหลือถูกเก็บ GST ในอัตรา 3% ในขณะที่ยูเออีเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มทุกสินค้าในอัตราเดียวกันที่ 5%

ภาพรวมการค้าระหว่างอินเดียและยูเออี

จากสถิติของ Global Trade Atlas พบว่า นับจากปี 2019 ถึงปี 2022 การค้าระหว่างอินเดียและยูเออีขยายตัวขึ้นโดยตลอด ในปี 2022 มีมูลค่าการค้าระหว่างกันอยู่ที่ 84,228 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในช่วงครึ่งหลังปี 2022 ที่มีการลงนาม CEPA แล้วมูลค่าการค้าสินค้ารวมระหว่างอินเดียกับยูเออีเพิ่มขึ้นราว 13% จากช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 42,083 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมที่มีมูลค่า 37,212 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยยูเออีเป็นตลาดส่งออกในอันดับ 2 ของอินเดีย รองจากสหรัฐอเมริกา และอินเดียนำเข้าสินค้าจากยูเออีเป็นอันดับ 2 รองจากจีน ส่วนอินเดียนั้นเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ในยูเออี และยูเออีนำเข้าจากอินเดียเป็นอันดับ 2 รองจากจีน โดยอินเดียส่งออกสินค้าหลักไปยังยูเออี ได้แก่ ก๊าซปิโตรเลียมและก๊าซไฮโดรคาร์บอน เครื่องประดับทอง เพชรเจียระไน และเครื่องโทรศัพท์รวมถึงเครื่องโทรศัพท์สำหรับเครือข่ายเซลลูลาร์หรือสำหรับเครือข่ายไร้สายอื่นๆ เป็นต้น ด้านการนำเข้า พบว่าอินเดียนำเข้าสินค้าหลักจากยูเออี ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียม ก๊าซปิโตรเลียมและก๊าซไฮโดรคาร์บอน เพชรก้อน ทองคำ พลาสติกและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น  

การค้าอัญมณีและเครื่องประดับของอินเดียและยูเออี

อินเดีย

อินเดียเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคอัญมณีและเครื่องประดับรายใหญ่ของโลก ในปี 2022 อินเดียนำเข้า
อัญมณีและเครื่องประดับจากยูเออีสูงที่สุด รองลงมาคือ สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และเบลเยียม ตามลำดับ โดยสินค้านำเข้าจากยูเออีส่วนใหญ่กว่า 62% เป็นเพชรก้อน รองลงมาเป็นทองคำและโลหะแพลทินัม ตามลำดับ ส่วนไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 14 ซึ่งอินเดียนำเข้าเพชรเจียระไนจากไทยมากที่สุดในสัดส่วนราว 70% รองลงมาเป็นเครื่องประดับเงิน โลหะเงิน พลอยเนื้อแข็งเจียระไน พลอยก้อน และพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ตามลำดับ

รูปที่ 1 แหล่งนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับของอินเดียระหว่างปี 2020 – 2022

ที่มา: Global Trade Atlas

ด้านการส่งออกพบว่า อินเดียส่งออกไปยังยูเออี เป็นอันดับ 3 รองจากสหรัฐอเมริกา และฮ่องกง ตามลำดับ ซึ่งอินเดียส่งออกสินค้าหลักไปยังยูเออีในสัดส่วนกว่า 56% เป็นเครื่องประดับทอง รองลงมาคือ เพชรเจียระไน และอัญมณีสังเคราะห์ ตามลำดับ ทั้งนี้ เครื่องประดับทองที่อินเดียส่งออกไปยังยูเออีนั้น ส่วนใหญ่เป็นเครื่องประดับทอง 21K และ 22K เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของชาวอาหรับและชาวเอเชียใต้ที่อยู่อาศัยและท่องเที่ยวในยูเออี ส่วนเครื่องประดับทอง 18K ทั้งตกแต่งและไม่ตกแต่งอัญมณีเป็นที่ชื่นชอบของคนรุ่นใหม่ และชาวตะวันตกที่เป็นนักท่องเที่ยวและที่อาศัยอยู่ในยูเออี

ส่วนไทยเป็นตลาดส่งออกในอันดับที่ 6 ของอินเดีย โดยสินค้าส่งออกจากอินเดียไปยังไทยเกือบ 90% เป็นเพชรเจียระไน รองลงมาเป็นพลอยเนื้อแข็งเจียระไน (ส่วนใหญ่ราว 80% เป็นการส่งออกมรกต รองลงมาเป็นทับทิม และแซปไฟร์) อัญมณีสังเคราะห์ และพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ตามลำดับ

รูปที่ 2 ตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของอินเดียระหว่างปี 2020 – 2022
ที่มา: Global Trade Atlas
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
 
ยูเออีเป็นตลาดผู้บริโภคสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับรายใหญ่แห่งหนึ่งของโลก เนื่องจากประชาชนมีกำลังซื้อสูง และยังถือเป็นประตูสู่ประเทศอื่นๆ ในตะวันออกกลางและแอฟริกาตอนเหนือด้วย ในปี 2022 ยูเออีนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับจากอินเดียมากที่สุด สินค้าหลักกว่าครึ่งเป็นเครื่องประดับทอง ตามมาด้วยเพชรเจียระไน และอัญมณีสังเคราะห์ ตามลำดับ ส่วนตลาดในลำดับรองลงมาคือ สหราชอาณาจักร สวิตเซอร์แลนด์ เบลเยียม และฮ่องกง ตามลำดับ ขณะที่ไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 24 โดยสินค้าที่นำเข้าจากไทยส่วนใหญ่เป็นเครื่องประดับทองในสัดส่วนกว่า 54% รองลงมาเป็นเพชรเจียระไน ทองคำ และพลอยก้อน ตามลำดับ
รูปที่ 3 แหล่งนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับของยูเออีระหว่างปี 2020 – 2022
ที่มา: Global Trade Atlas
        ส่วนการส่งออกพบว่า ยูเออีส่งออกไปยังอินเดียสูงที่สุด รองลงมาคือ สวิตเซอร์แลนด์ ฮ่องกง ตุรกี และเบลเยียม ตามลำดับ ส่วนไทยเป็นตลาดส่งออกในอันดับที่ 14 โดยสินค้าส่งออกหลักจากยูเออีมายังไทยคือ ทองคำ ซึ่งมีสัดส่วนกว่า 80% ของการส่งออกทั้งหมด ที่เหลือเป็นเพชรก้อน พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เครื่องประดับทอง และเพชรเจียระไน ตามลำดับ
รูปที่ 4 ตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของยูเออีระหว่างปี 2020 – 2022
ที่มา: Global Trade Atlas
CEPA อินเดีย-ยูเออี: ผลต่ออัญมณีและเครื่องประดับไทย

ภายใต้ความตกลง CEPA ยูเออีลดภาษีนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจากอินเดียเป็น 0 ทันทีที่ CEPA มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2022 ทำให้สินค้าของอินเดียมีแต้มต่อในตลาดยูเออีมากขึ้น จากสถิติการค้าของ Global Trade Atlas ในช่วงครึ่งหลังปี 2022 หลังจากการทำ CEPA พบว่าอินเดียส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไปยังยูเออีได้เพิ่มขึ้น 13.59% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2021 โดยส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทองและเพชรเจียระไนไปยังยูเออีได้เพิ่มขึ้น 7.97% และ 17.79% ตามลำดับ ในขณะเดียวกันยูเออีส่งออกไปยังอินเดียลดลง 11.53% เนื่องจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างทองคำลดลงมากกว่า 67.46% ส่วนสินค้าสำคัญรองลงมาอย่างเพชรก้อนและแพลทินัม ยังเติบโตได้ 7.60% และ 336.32% ตามลำดับ ทั้งนี้ ในฐานะประเทศผู้ผลิตอัญมณีและเครื่องประดับรายสำคัญของโลก CEPA อินเดีย-ยูเออีมีส่วนช่วยให้สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจากอินเดียมีความได้เปรียบเหนือประเทศคู่แข่งอื่นๆ ในตลาดยูเออี อีกทั้งยังเป็นโอกาสสำคัญที่จะใช้ยูเออีเป็นประตูเจาะตลาดตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าได้อีกทางหนึ่งด้วย

 ในขณะที่ไทยอาจจะเสียเปรียบอินเดียในเรื่องของต้นทุนสินค้าที่สูงกว่า เพราะต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราปกติ ทำให้สินค้าบางชนิดของไทยที่ส่งออกไปยังยูเออีได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะเครื่องประดับทอง ซึ่งเป็นสินค้าศักยภาพของอินเดียซึ่งพัฒนารูปแบบและมีต้นทุนค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว ประกอบกับภาษีนำเข้าไปยังยูเออีที่เป็น 0 ยิ่งทำให้เครื่องประดับทองของอินเดียในตลาดยูเออีมีราคาค่อนข้างต่ำ ยูเออีจึงนำเข้าเครื่องประดับทองจากอินเดียเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของเครื่องประดับทองไทยที่ยากจะมีสัดส่วนในตลาดยูเออีเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ในทรรศนะของนายจารุดล ตุลยกิจจา ผู้ประกอบการที่คว่ำหวอดอยู่ในตลาดตะวันออกกลางเป็นเวลานานเห็นว่า แม้ว่าไทยจะมีฝีมือเชี่ยวชาญการผลิตเครื่องประดับทองและผลิตได้ตามรูปแบบที่ลูกค้าต้องการ หากแต่การผลิตเครื่องประดับสไตล์อาหรับ 21K และ 22K แบบเซ็ตใหญ่อลังการต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก ส่วนการผลิตเครื่องประดับทอง 18K ไทยมีผู้ประกอบการจำนวนน้อยรายและต้นทุนการผลิตของไทยค่อนข้างสูง ฉะนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงต้องเร่งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยการพัฒนารูปแบบสินค้าให้ทันสมัยแต่มีต้นทุนต่ำลง เพื่อเจาะตลาดชาวตะวันตกที่เป็นนักท่องเที่ยวและอาศัยอยู่ในยูเออี และเป็นการรักษาส่วนแบ่งตลาดเครื่องประดับทองในตลาดยูเออีเอาไว้ รวมถึงสามารถขยายสินค้าต่อไปยังกลุ่มประเทศ GCC ได้ด้วย ส่วนการส่งออกเพชรเจียระไนนั้น ส่วนใหญ่เป็นบริษัทของอินเดียในไทยส่งออกไปยังยูเออี ซึ่งก็อาจจะลดการส่งออกจากไทยไปยังยูเออีโดยตรง แต่ส่งออกไปยังอินเดียแล้วส่งออกต่อไปยังยูเออีเพื่อใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงมากขึ้น อาจส่งผลให้สัดส่วนการส่งออกเพชรเจียระไนจากไทยไปยังยูเออีลดลงได้ในอนาคต

 ขณะเดียวกันการค้าระหว่างอินเดียและยูเออีที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลดีต่อไทยในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการผลิตอัญมณีที่มีชื่อเสียงของโลก ทำให้ไทยส่งออกวัตถุดิบและสินค้ากึ่งวัตถุดิบไปยังอินเดียเพื่อส่งออกต่อและแปรรูปเป็นสินค้าสำเร็จรูปจำหน่ายในยูเออีและผ่านต่อไปยังกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางและบางประเทศในแอฟริกาตอนเหนือได้เพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นจากสถิติกรมศุลกากรไทยพบว่า ในช่วงครึ่งหลังปี 2022 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2021 อินเดียนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับจากไทยเพิ่มขึ้น 25.56% โดยสินค้าส่วนใหญ่ที่อินเดียนำเข้าจากไทย ได้แก่ เพชรเจียระไน เครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทอง พลอยก้อน พลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ซึ่งเติบโต 12.22%, 81.66%, 1,537%, 47.72%, 166.84% และ 389.27% ตามลำดับ
        
        ในขณะที่สินค้าบางกลุ่มของไทยจะไม่ได้รับผลกระทบจากความตกลงนี้ โดยเฉพาะพลอยสี ซึ่งไทยขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ผลิต/เจียระไนพลอยสีสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เห็นได้จากภายหลังมี CEPA อินเดีย-ยูเอเอี มีผลบังคับใช้ไทยยังสามารถส่งออกพลอยสีไปยังยูเออีเพิ่มมากขึ้น และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากชาวอาหรับและชาวเอเชียใต้ในยูเออีให้ความสนใจพลอยสีและเครื่องประดับตกแต่งพลอยสีเพิ่มมากขึ้น นอกจากไทยจะส่งออกพลอยสีแล้ว ผู้ประกอบการไทยอาจใช้โอกาสนี้ผลิตเครื่องประดับเงินหรือเครื่องประดับทองตกแต่งพลอยสีส่งออกไปเจาะตลาดยูเออีเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ จากสถิติการค้าของกรมศุลกากรไทยในช่วงครึ่งหลังปี 2022 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้าพบว่า ไทยส่งออกพลอยสีไปยังยูเออีได้เพิ่มสูงมาก ได้แก่ พลอยก้อน พลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไนที่ต่างเติบโตกว่า 3,620.26%, 67.09% และ 241% ตามลำดับ 
 
        อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Comprehensive Economic Partnership Agreement: CEPA) ระหว่างไทยกับยูเออี เพื่อให้การค้าและการลงทุนระหว่างกันขยายตัวอย่างยั่งยืน หากเจรจาเสร็จสิ้นและยูเออีลดภาษีนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับให้ไทยเป็น 0 ทันทีที่มีผลบังคับใช้ จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในตลาดยูเออีได้มาก อีกทั้งยูเออีเป็นผู้นำเข้าและเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก จึงมีความต้องการนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกต่อไปยังกลุ่มอ่าวอาหรับรวมถึงแอฟริกาเหนือ ความตกลงทางการค้าฉบับนี้จึงช่วยเพิ่มโอกาสการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทย โดยเฉพาะเครื่องประดับทอง ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่ชาวยูเออีและชาวอาหรับ รวมถึงเพชรเจียระไนและพลอยสี ที่ไทยเป็นผู้เชี่ยวชาญในการเจียระไนเพชรและพลอยสีในระดับสูง ไปยังตลาดยูเออีซึ่งจะกระจายสินค้าต่อไปยังกลุ่มประเทศในตลาดตะวันออกกลาง รวมถึงแอฟริกาเหนือได้เพิ่มมากขึ้น
 
        จากที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น จะเห็นได้ว่า ยังมีโอกาสอยู่อีกมากสำหรับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยในตลาดอินเดียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ขอเพียงผู้ประกอบการไทยไม่หยุดการพัฒนา สร้างสรรค์สินค้าที่มีความแตกต่าง ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การตลาดและช่องทางการค้าให้เหมาะสมกับแต่ละสถานการณ์ พร้อมเสริมสร้างเครือข่ายการค้าให้เข้มแข็ง แสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง เมื่อนั้นย่อมมองเห็นโอกาสที่อยู่เบื้องหน้าและพร้อมคว้าไว้ได้เป็นผลสำเร็จแน่นอน

จัดทำโดย นางสาววาสนา สมเนตร์
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ตุลาคม 2566

Share:

More Posts

โอกาสการเติบโตของตลาดเครื่องประดับเฉพาะบุคคล

ตลาดเครื่องประดับเฉพาะบุคคลกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในอุตสาหกรรมเครื่องประดับในปัจจุบัน เนื่องจากผู้บริโภคยุคใหม่ต้องการเครื่องประดับที่แสดงออกถึงความเป็นตัวตน

Auzi จากเครื่องช่วยฟังสู่ Smart Jewelry

เครื่องช่วยฟังนั้น เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้สำหรับผู้ที่มีปัญหาทางการได้ยิน ซึ่งปรับตั้งค่าตามผลตรวจการได้ยิน เพื่อทำหน้าที่ขยายเสียงให้พอดีกับระดับการได้ยินที่บกพร่องไปของแต่ละบุคคล