เมื่อพิจารณาการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2567 ในกลุ่มประเทศที่สำคัญนั้น พบว่า ในปี 2567 มีเพียงฝรั่งเศส เยอรมนี และสหราชอาณาจักร ที่ GDP มีแนวโน้มเติบโตมากกว่าปี 2566 ทำให้ในภาพรวมของยูโรโซนเติบโตได้ตามไปด้วย ส่วนอินเดียและอิตาลีจะมีทิศทางทรงตัวไม่ต่างจากปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่กดดันราคาสินค้านั้น ในทุกประเทศสำคัญล้วนมีแนวโน้มลดลง มีเพียงจีนที่ปรับตัวขึ้นจาก 0.7% เป็น 1.7% และปัญหาอัตราว่างงานในภาพรวม หลายประเทศจะมีทิศทางไม่ต่างจากปีก่อนมากนัก
นอกจากนี้ มีประเด็นที่น่าสนใจอย่างเช่น การคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงไว้ต่อเนื่องจะมีส่วนทำให้ต้นทุนทางการเงินเพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่นักวิเคราะห์คาดว่า เฟดยังคงรักษาการคุมเข้มนโยบายการเงิน คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ต่อไปอีกกระทั่งถึงช่วงไตรมาส 3 ปี 2567 ขณะที่ในยูโรโซนนั้น เศรษฐกิจที่ชะลอตัวในวงกว้างจากปัจจัยกดดันหลักอย่างภาวะตึงตัวทางการเงินที่อยู่ในระดับสูง การส่งออกที่ชะลอตัว ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและธุรกิจที่ยังอยู่ในระดับต่ำ อัตราว่างงานสูง และปัญหาราคาพลังงานพุ่งสูงในช่วงก่อนนี้ ทำให้ภาพรวมทางเศรษฐกิจอ่อนแอ ขาดปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเติบโต กระทบความเชื่อมั่นและการบริโภค
ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ
ตลอดปี 2566 มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจบางส่วน รวมถึงมีความผันผวนท่ามกลางโอกาสและความท้าทายที่เกิดขึ้นตลอดปี ซึ่งเมื่อพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้น หลายประเด็นส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ดังนี้
• ด้านอำนาจการใช้จ่ายของผู้บริโภค ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยอาจทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง เนื่องจากอัญมณีและเครื่องประดับถูกมองว่าไม่ใช่สินค้าจำเป็น การลดลงของรายได้ส่งผลให้ความต้องการสินค้าฟุ่มเฟือยลดลง รวมถึงอัญมณีและเครื่องประดับ
• ด้านอัตราแลกเปลี่ยน แหล่งวัตถุดิบนั้นมีกระจายอยู่หลายแหล่งทั่วโลก ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราโดยเฉพาะสกุลสำคัญที่มีสัดส่วนการใช้สูงอย่างดอลลาร์สหรัฐ ยูโร เงินเยน และปอนด์สเตอร์ลิง อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนวัตถุดิบและส่งผลต่อกลยุทธ์การกำหนดราคาสำหรับผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป
• ด้านการลงทุน อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและการขาดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ไม่เพียงส่งผลต่อต้นทุนทางการเงิน ยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เพราะเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง หากภาวะเศรษฐกิจไม่แน่นอนอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในการลงทุนโครงการใหม่ๆ ทำให้ชะลอการลงทุนออกไป
• ด้านนโยบาย ในการดำเนินนโยบายของทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นอีกส่วนสำคัญที่ส่งผลเชิงบวกและเชิงลบต่ออุตสาหกรรมได้ ดังเช่นการปรับลดภาษี การส่งเสริมการลงทุนและการค้า หรือข้อตกลงการค้าเสรี เป็นส่วนส่งเสริมที่ทำให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน นอกจากนี้ นโยบายกีดกันทางภาษีและไม่ใช่ภาษี หรือความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การคว่ำบาตร ล้วนส่งผลให้เกิดอุปสรรคทางการค้า
• ด้านอื่นๆ ได้แก่ ประเด็นทางเทคโนโลยีดิจิทัล กระแสแฟชั่น และกระแสรักษ์โลก ล้วนเป็นปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง เพราะกระทบต่อทั้งฝั่งผลิตและผู้บริโภค ซึ่งหากธุรกิจสามารถจับประเด็นเหล่านี้มาได้ทันกระแสย่อมก่อให้เกิดความได้เปรียบ
โดยปัจจัยต่างๆ ข้างต้น เป็นประเด็นเฝ้าระวังและควรพิจารณาเพื่อนำมาประกอบการทำกลยุทธ์ทางการตลาดในปีนี้ นอกจากปัจจัยข้างต้นที่เป็นประเด็นสำคัญต่ออุตสาหกรรมแล้ว ผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดเป็นอีกประเด็นสำคัญที่สามารถก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมไปทั่วทั้งอุตสาหกรรมได้ทั้งเชิงบวกและลบ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากทั้งฝั่งอุปสงค์และอุปทานแล้ว พบว่า ผู้เล่นรายใหญ่ที่มีความสำคัญมีอยู่สองประเทศ คือ จีนและอินเดีย ซึ่งเป็นทั้งตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่และโรงงานผลิตของโลกในคราเดียวกัน
จีน ตลาดผู้บริโภคและโรงงานผลิตของโลก
จีนนั้นมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดตลอดช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา มีการปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง ในการยกระดับมาตรฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้จีนเข้ามามีส่วนสำคัญด้านการค้าและการผลิต กระทั่งได้รับชื่อว่าเป็น โรงงานของโลก ต่อยอดมาถึง Made in China 2025 ล้วนเป็นแนวทางสำคัญที่ทำให้จีนสามารถก้าวขึ้นมาอยู่ในอันดับ 2 ของโลก เมื่อเทียบจากมูลค่า GDP ซึ่งอยู่ที่ 17.96 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ รองจากสหรัฐอเมริกาที่มีมูลค่า 25.46 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจดังกล่าว ทำให้รายได้ของประชากรในประเทศเพิ่มสูงขึ้น โดยมาจากหลายปัจจัยที่ส่งผลอย่างเช่น
1. การเติบโตของเมืองใหญ่ทั่วประเทศ
ปัจจุบันมี 5 เมืองที่อยู่ในระดับ Tier 1 ซึ่งเป็นเมืองที่มีมูลค่า GDP มากกว่า 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้แก่ ปักกิ่ง ฉงชิ่ง กวางโจว เซี่ยงไฮ้ และเทียนจิน ขณะที่ระดับ Tier 2 ซึ่งมีมูลค่า GDP ระหว่าง 68,000-299,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีถึง 30 เมือง ในปัจจุบันเมืองระดับ Tier 2 มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วหลายแห่งเป็นศูนย์กลางทางการค้าและอุตสาหกรรม เช่นเดียวกับเมืองระดับ Tier 3 ที่มี GDP ระหว่าง 18,000-67,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่กำลังเติบโต ผู้คนมีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น ซึ่งทำให้เกิดแรงซื้อเครื่องประดับเพื่องานแต่งงาน เป็นของขวัญและเพื่อตนเองเพิ่มมากขึ้นด้วย
2. การขยายตัวของชนชั้นกลาง
ชนชั้นกลางในจีนมีการขยายตัวสูงในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งคำนิยามจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) ระบุว่า กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง วัดจากครัวเรือนที่มีสมาชิกสามคน ซึ่งมีรายได้ต่อปีระหว่าง 100,000-500,000 หยวนต่อปี (ราว 13,938-69,691 ดอลลาร์สหรัฐ) ส่วนรายได้เฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 31,370 หยวน (4,374 ดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าจากปี 2556 ประมาณการว่า มีประชากรมากกว่า 50% หรือมากกว่า 700 ล้านคนของจีนอยู่ในชนชั้นกลาง ซึ่ง Boston Consulting Group บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการระดับโลกของสหรัฐอเมริกา ได้คาดการณ์ว่า ในช่วงปี 2565-2573 จีนจะมีชนชั้นกลางและระดับสูงเพิ่มขึ้นอีกกว่า 80 ล้านคน ซึ่ง 70% ของจำนวนนี้มาจากเมืองระดับ Tier 3 และต่ำกว่า
ด้วยการขยายตัวของชนชั้นกลางซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนวัยทำงาน ทำให้ประชาชนหันมาสนใจบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยรวมทั้งอัญมณีและเครื่องประดับมากขึ้นตามไปด้วย ประมาณการว่า จีนมีสัดส่วนในการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยราว 25% จากยอดรวมทั่วโลก โดยข้อมูลจาก Gem to China ระบุว่า เมืองปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น กวางโจว และหางโจว เป็น 5 เมืองที่มีการบริโภคอัญมณีและเครื่องประดับมากที่สุดในจีน ทั้งนี้ หากจำแนกตามความนิยมในการบริโภคจะพบว่า 3 อันดับแรก คือ เครื่องประดับทอง (สัดส่วน 57%) หยก (สัดส่วน 21%) เครื่องประดับเพชร (สัดส่วน 11%) โดยจีนนั้นเป็นผู้บริโภคเครื่องประดับทองอันดับหนึ่งของโลกมาอย่างยาวนาน มีสัดส่วนราว 30% ของโลก มีเพียงปี 2565 ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจทำให้อินเดียแซงขึ้นมาเป็นอันดับ 1 แทน (ข้อมูลจาก World Gold Council)